วิเคราะห์สถานการณ์ฝนจากพายุโซนร้อน “ซูลิก”

ดร.สมชาย ใบม่วง

19 กันยายน 2567

 

1. ลักษณะของพายุโซนร้อน “ ซูลิก”

1.1 มีการพัฒนาความรุนแรงเร็วมากจาก “ดีเปรสชั่น” เป็น “พายุโซนร้อน” ภายในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ตามประสบการณ์ทางการพยากรณ์แล้ว เชื่อว่า “มาเร็วไปเร็ว” หมายความว่า “เกิดมาแล้วสลายความรุนแรงเร็ว” ประกอบกับตำแหน่งศูนย์กลางอยู่ใกล้แผ่นดิน คือประเทศเวียดนาม และจากรูปที่ 1. แผนที่อากาศเมื่อเวลา ๐7.๐๐ น ของกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้ได้ว่า มีความกดอากาศสูงที่เป็นอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนแผ่ลงมาประเทศไทยด้วย เมื่อปะทะกับพายุซึ่งมีสภาพร้อนและชื้นแล้ว

พายุจะฝ่อโดยเร็ว

1.2 แนวทางการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อน “ซูลิก” จะเคลื่อนตัวไปทางตะวันตก คือจากขวามือมาทางซ้ายมือ ตามสภาพลมของบริเวณนี้ คือ เป็นลมตะวันออก แต่เมื่อขึ้นแผ่นดินประเทศเวียดนามและลาวแล้ว ทิศทางอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง เนื่องจากปะทะกับภูเขา ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง แต่หลักใหญ่ๆ คือ ไปทางซ้ายมือของเรา ข้อดี คือ หลังจากผ่านเวียดนามและลาวแล้ว พายุนี้จะอ่อนกำลังลงไปอีก ทำให้แนวทางตำแหน่งที่จะเข้าประเทศไทย คือ ตอนกลางของภาคอีสาน ประกอบกับจากข้อ 1.1 ที่ว่า “มีความกดอากาศสูงที่เป็นอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนแผ่ลงมาประเทศไทยด้วย”

ดังนั้น ตำแหน่งความกดอากาศสูงดังกล่าว อาจจะกดให้พายุเคลื่อนลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ได้บ้าง แต่หลังจากนั้นก็จะเคลื่อนไปทางตะวันตกต่อไป ดังรายละเอียดรูปภาพ ๒-๔ การคาดหมายของศูนย์ความร่วมมือการเตือนพายุไต้ฝุ่น (Joint Typhoon Warning Centre :JTWC) ตั้งอยู่ที่ เกาะกวม  ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับโลกที่รับผิดชอบติดตามและเตือนเรื่องพายุในเขตนี้โดยเฉพาะ

รูปที่ 2

รูปที่ 3

รูปที่ 4

                  ประกอบกับเมื่อพิจารณาแผนที่ลมชั้นบนของประเทศไทยของกรมอุตุนิยมวิทยาเมื่อเวลา ๐7.๐๐ น.    ที่ระดับ 925 hPa ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ที่ระดับ 500 hPaซึ่งเป็นระดับที่เป็นหลักใช้พิจารณาทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ ดังรูปที่ 5-6 แล้ว พบว่า ลักษณะของลมรอบพายุเป็นรูปวงรี ที่มีวงแนวหน้าเคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เป็นสิ่งยืนยันว่า “พายุจะเคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ค่อนข้างชัดเจน”

รูปที่ 5

รูปที่ 6

 

2. ผลกระทบจากพายุโซนร้อน “ซูลิก” ต่อประเทศไทย

2.1 เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดตามข้อ 1. แล้ว ในสภาพที่เกิดขึ้นจริงสิ่งที่จะยืนยันว่าพายุโซนร้อน “ซูลิก”จะมีผลกระทบกับประเทศไทยบริเวณใด รุนแรงขนาดไหน ยาวนานเท่าใด ในเบื้องต้นสามารถพิจารณาประกอบจากภาพถ่ายการเคลื่อนตัวของเมฆที่อาจจะทำให้เกิดฝนได้จากภาพถ่ายจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา “Himawari” ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยารับได้ทุกวัน ดังรูปที่ 7

รูปที่ 7

                        จะเห็นว่า กลุ่มเมฆ ที่เป็นด้านหน้าของพายุ เคลื่อนตัวเข้ามาทางภาคอีสานตอนกลางและรูปเมฆเคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ชัดเจน แต่ภาพถ่ายจากดาวเทียมนี้ แสดงเฉพาะชนิดกลุ่มเมฆและบริเวณพื้นที่ที่เมฆปกคลุมเท่านั้น

 

2.2 เพื่อเป็นการยืนยันว่าภาพเมฆจากข้อ 2.1 จะทำให้เกิดเป็นฝนตกบริเวณที่ใดบ้างและมีความรุนแรง อย่างไร เราสามารถตรวจสอบกลุ่มฝนนั้นได้โดยอนุมานจากภาพถ่ายจากเรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยสามารถเลือกดูเฉพาะบริเวณที่มีกลุ่มฝนปกคลุม ในกรณีนี้เราต้องการจะทราบข้อมูลฝนจากพายุที่จะเข้ามาประเทศไทย ว่า มาหรือยัง ปกคลุมที่ใดแล้ว สามารถดูได้จาภาพถ่ายจากเรดาร์ตรวจอากาศของสถานีตรวจอากาศสกลนคร ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะเห็น กลุ่มฝนและทิศทางการเคลื่อนตัวชัดเจน สอดคล้องกับข้อมูลที่พิจารณาข้างต้นทั้งหมดรูปที่ 8

รูปที่ 8

                        จะเห็นว่า แนวด้านหน้าของพายุเริ่มเข้ามาแล้วทางด้านตะวันออกของภาคอีสานตอนกลาง

 

2.3 ประการสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาคือ เมื่อพายุเข้าประเทศไทยแล้ว ผลกระทบทางอ้อมคือ พายุนี้จะกระตุ้นหรือเหนี่ยวนำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออก มีกำลังแรงเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าว และคลื่มลมในทะเลแรงขึ้นตามไปด้วย  ดังรูปที่ 9 เป็นภาพถ่ายจากเรดาร์ตรวจอากาศของสถานีตรวจอากาศภูเก็ตของกรมอุตุนิยมวิทยา

 

รูปที่ 9

  2.4 รายละเอียดข้างต้นทั้งหมด ค่อนข้างเป็นลบ แต่ในทางตรงข้าม เมื่อพิจารณาผลดีจากพายุนี้แล้ว จะเห็นว่า ปริมาณฝนที่จะตกจากพายุโซนร้อน “ซูลิก” นี้ จะมีโอกาสสามารถเติมเต็มปริมาณน้ำในเขื่อนในพื้นที่ต่างๆของประเทศที่ยังน้อยอยู่ ให้เพิ่มมากขึ้นได้ โดยพิจารณาจากรูปที่ 10 ซึ่งเป็นปริมาณฝนรวมของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 18 กันยายน ปีนี้ ซึ่งบางพื้นที่ยังเป็นสีแดง หมายความว่า

ปริมาณฝนรวมพื้นที่นั้นยังต่ำกว่าค่าปกติ 30 ปี จึงมีโอกาสที่พื้นที่ดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือน้ำเงินได้

รูปที่ 10

                        ทั้งหมดเป็นแนวทาง ขั้นตอนและวิธีการ ตามลำดับ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ เตรียมตัว เพื่อเผชิญกับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทางอุตุนิยมวิทนาที่จะมามีผลกระทบกับเราโดยที่เราไม่สามารถหลีกหนีได้ โดยอย่าตระหนกแต่ขอให้ตระหนักว่า “เราสามารถลดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของเราได้หากตั้งอยู่ในความไม่ประมาท”

                        สามารถดูข้อมูลทั้งหมดได้จาก www.tmd.go.th ของกรมอุตุนิยมวิทยา และขอให้เชื่อมั่นในคำเตือนต่างๆจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อไป ขอบคุณครับ

 

ผู้เขียน : ดร.สมชาย ใบม่วง/ กรรมการสมาคมนักอุทกวิทยาไทยและผู้เชี่ยวชาญอุตุนิยมวิทยา

เผยแพร่โดย : สมาคมนักอุทกวิทยาไทย/ www.thaihydra.org

ข้อมูลภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา/ www.tmd.go.th

 

#พายุโซนร้อน

#พายุ

#นำ้ท่วม

#นักวิชาการ

#สมาคมนักอุทกวิทยาไทย